รวบรวมคำราชาศัพท์เอาไว้ทุกหมวดหมู่ พร้อมกับความหมาย และการใช้งาน ซึ่งรวมเอาไว้ถึง คำราชาศัพท์หมวดเครื่องใช้ คำราชาศัพท์หมวดร่างกาย คำราชาศัพท์หมวดอาหาร คำราชาศัพท์หมวดเครือญาติ คำราชาศัพท์หมวดกริยา คำราชาศัพท์หมวดสรรพนาม
เว็บไซท์ติวฟรีได้รวบรวมคำราชาศัพท์เอาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลและความรู้กันได้ฟรีๆ กรุณาสนับสนุนเว็บติวฟรีด้วยการไม่ก้อปปี้ข้อมูลนี้ไปลงไว้ที่อื่น กลับกันให้กดแชร์แทนนะครับ
ข้ามไปที่คำราชาศัพท์หมวดที่ต้องการ
ความหมายของคำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์หมายถึง คำศัพท์สำหรับพระราชา เป็นภาษาที่กำหนด และตกแต่งขึ้นให้สุภาพ และเหมาะสม เพื่อใช้พูดถึง หรือพูดกับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ปัจจุบันนี้หมายถึง คำสุภาพที่ใช้กับบุคคลที่ควรเคารพ การรู้เรื่องคำราชาศัพท์เป็นการเรียนรู้ในการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามกาลเทศะ และฐานะของบุคคล ภาษาไทยได้กำหนดคำราชาศัพท์ขึ้นใช้ และมีวิธีการใช้ตามระเบียบแบบแผนของภาษาซึ่งนับว่า เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงออกทางด้านภาษา
ตามรูปศัพท์แล้ว คำราชาศัพท์ หมายถึงคำศัพท์ที่ใช้กับราชา แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น มีการใช้คำราชาศัพท์ในวงที่กว้างขึ้น จึงตีความหมายของคำราชาศัพท์รุ่นใหม่เอาไว้ว่า
“คำราชาศัพท์ หมายถึง ถ้อยคำสุภาพ ไพเราะที่ใช้ให้เหมาะกับฐานะของบุคคลในสภาพสังคมไทย”

คำราชาศัพท์ใช้กับใครบ้าง?
นอกจากพระราชาแล้ว เรายังใช้คำราชาศัพท์กับบุคคลอื่นด้วย แล้วบุคคลที่เราควรจะใช้คำราชาศัพท์ด้วย มีใครบ้างล่ะ? ราชบัณฑิตยสภา ได้กำหนดเอาไว้ว่า เราจะต้องใช้คำราชาศัพท์กับบุคคลเหล่านี้ครับ
- พระมหากษัตริย์
- พระบรมวงศานุวงศ์ (พระญาติของพระมหากษัตริย์)
- พระภิกษุ
- ขุนนางข้าราชการ
- สุภาพชน
ที่มาของคำราชาศัพท์
ลักษณะของสังคมไทยเป็นสถานที่มีความผูกพันฉันพี่น้องนับถือกันด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ ลักษณะดังกล่าวจึงสะท้อนออกมา และปรากฏในภาษาไทย เช่น การใช้ภาษาที่สุภาพกับผู้ที่มีวัยสูงกว่า การใช้ภาษากันเองกับผู้ที่สนิทสนมกันหรือการใช้คำราชาศัพท์ กับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ เป็นต้น และในสังคมไทยสมัยก่อนเป็นสังคมที่ยกย่องผู้นำ ผู้ที่มีบุญญาธิการผู้ที่ประพฤติดี และผู้ที่ช่วยเหลือให้ความสุขแก่ราษฎร จึงได้มีการใช้คำเพื่อยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์
บทความแนะนำ: วันที่ระลึกพระมหาจักรีบรมราชวงศ์
นอกจากนี้ไทยได้รับอิทธิพลของการนับถือพระมหากษัตริย์ว่า เป็นเทวราชาจากเขมร มีการใช้คำ เพื่อแสดงสถานะของพระมหากษัตริย์ คำเหล่านั้นจึงได้พัฒนามาเป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มาของคำราชาศัพท์ นอกจากจะมาจากลักษณะของสังคมไทย และความเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์กับประเทศเขมร แล้วยังได้มีการกำหนดตกแต่งภาษาขึ้นมาเฉพาะ เป็นคำราชาศัพท์จากคำไทยที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างคำขึ้นใหม่หรืออาจยืมมาจากภาษาอื่น คำราชาศัพท์ นั้น มีที่มาอยู่ 2 อย่าง คือ
- รับมาจากภาษาอื่น ภาษาเขมร เช่น โปรด เขนย เสวย เสด็จ เป็นต้น ภาษาบาลี-สันสกฤต เช่น อาพาธ เนตร หัตถ์ โอรส เป็นต้น
- การสร้างคำขึ้นใหม่ โดยการประสมคำ เช่น ลูกหลวงซับพระพักตร์ ตั้งเครื่อง เป็นต้น
คำราชาศัพท์หมวดเครื่องใช้
คำราชาศัพท์ | ความหมาย |
พระวิสูตร | ม่านหรือมุ้ง |
พระสูตร | ม่านหรือมุ้ง |
พระเขนย | หมอน |
พระทวาร | ประตู |
พระบัญชร | หน้าต่าง |
พระสุวรรณภิงคาร | คนโทน้ำ |
ฉลองพระหัตถ์ช้อน | ช้อน |
ฉลองพระหัตถ์ส้อม | ส้อม |
ฉลองพระหัตถ์ตะเกียบ | ตะเกียบ |
แก้วน้ำเสวย | แก้วน้ำ |
พระสาง | หวี |
พระแสงกรรบิด | มีดโกน |
ซับพระองค์ | ผ้าเช็ดตัว |
ซับพระพักตร์ | ผ้าเช็ดหน้า |
ผ้าพันพระศอ | ผ้าพันคอ |
พระภูษา | ผ้านุ่ง |
นาฬิกาข้อพระหัตถ์ | นาฬิกาข้อมือ |
พระฉาย | กระจกส่อง |
ธารพระกร | ไม้เท้า |
พระแท่นบรรทม | เตียงนอน |
พระราชอาสน์ | ที่นั่ง |
โต๊ะทรงพระอักษร | โต๊ะเขียนหนังสือ |
พระราชหัตถเลขา | จดหมาย |
ฉลองพระเนตร | แว่นตา |
พระที่นั่งเก้าอี้ | เก้าอี้นั่ง |
เก้าอี้ประทับ | เก้าอี้นั่ง |
พระเขนย | หมอนหนุน |
เครื่องพระสุคนธ์ | เครื่องหอม เช่น น้ำหอม แป้งผัดหน้า |
เครื่องพระสำอาง | เครื่องประทินผิวหรือเครื่องสำอาง |
อ่างสรง | อ่างอาบน้ำ |
กระเป๋าทรง | กระเป๋าถือ |
พระแสงปนาค | กรรไกร |
คำราชาศัพท์หมวดร่างกาย
คำราชาศัพท์ | ความหมาย |
พระอุระ | หน้าอก |
พระทรวง | หน้าอก |
พระหทัย | หัวใจ |
พระกมล | หัวใจ |
พระอุทร | ท้อง |
พระนาภี | สะดือ |
พระกฤษฎี | สะเอว |
บั้นพระองค์ | สะเอว |
พระปรัศว์ | สีข้าง |
พระผาสุกะ | ซี่โครง |
พระเศียร | ศีรษะ |
พระนลาฏ | หน้าผาก |
พระขนง | คิ้ว |
พระภมู | คิ้ว |
พระเนตร | ดวงตา |
พระจักษุ | ดวงตา |
พระนาสิก | จมูก |
พระนาสา | จมูก |
พระปราง | แก้ม |
พระโอษฐ์ | ปากริมฝีปาก |
ต้นพระหนุ | ขากรรไกร |
พระกรรณ | หูหรือใบหู |
พระพักตร์ | ดวงหน้า |
พระศอ | คอ |
พระรากขวัญ | ไหปลาร้า |
พระอังสกุฏ | จะงอยบ่า |
พระกร | แขน |
พระกัประ | ข้อศอก |
พระกะโประ | ข้อศอก |
พระกัจฉะ | รักแร้ |
พระหัตถ์ | มือ |
ข้อพระกร | ข้อมือ |
ข้อพระหัตถ์ | ข้อมือ |
พระปฤษฏางค์ | หลัง |
พระขนอง | หลัง |
พระโสณี | ตะโพก |
พระที่นั่ง | ก้น |
พระอูรุ | ต้นขา |
พระเพลา | ขาหรือตัก |
พระชานุ | เข่า |
พระชงฆ์ | แข้ง |
หลังพระชงฆ์ | น่อง |
พระบาท | เท้า |
ข้อพระบาท | ข้อเท้า |
พระปราษณี | ส้นเท้า |
ส้นพระบาท | ส้นเท้า |
พระฉวี | ผิวหนัง |
พระโลมา | ขน |
พระพักตร์ | ใบหน้า |
พระมังสา | เนื้อ |
คำราชาศัพท์หมวดอาหาร
คำราชาศัพท์ | ความหมาย |
เครื่องเสวย | ของกิน |
เครื่องคาว | ของคาว |
เครื่องเคียง | ของเคียง |
เครื่องว่าง | ของว่าง |
เครื่องหวาน | ของหวาน |
พระกระยาหาร | ข้าว |
พระกระยาต้ม | ข้าวต้ม |
ขนมเส้น | ขนมจีน |
ผักรู้นอน | ผักกระเฉด |
ผักสามหาว | ผักตบ |
ผักทอดยอด | ผักบุ้ง |
ฟักเหลือง | ฟักทอง |
ถั่วเพาะ | ถั่วงอก |
พริกเม็ดเล็ก | พริกขี้หนู |
เห็ดปลวก | เห็ดโคน |
เยื่อเคย | กะปิ |
ปลาหาง | ปลาช่อน |
ปลาใบไม้ | ปลาสลิด |
ปลายาว | ปลาไหล |
ปลามัจฉะ | ปลาร้า |
ลูกไม้ | ผลไม้ |
กล้วยเปลือกบางหรือกล้วยกระ | กล้วยไข่ |
ผลมูลละมั่ง | ลูกตะลิงปลิง |
ผลอุลิด | ลูกแตงโม |
ผลอัมพวา | ผลมะม่วง |
นารีจำศีล | กล้วยบวชชี |
ขนมดอกเหล็กหรือขนมทราย | ขนมขี้หนู |
ขนมสอดไส้ | ขนมใส่ไส้ |
ขนมทองฟู | ขนมตาล |
ขนมบัวสาว | ขนมเทียน |
คำราชาศัพท์หมวดเครือญาติ ราชตระกูล
คำราชาศัพท์ | ความหมาย |
พระอัยกา | ปู่หรือตา |
พระอัยยิกา | ย่าหรือยาย |
พระปัยกา | ปู่ทวดหรือตาทวด |
พระปัยยิกา | ย่าทวดหรือยายทวด |
พระชนกหรือพระราชบิดา | พ่อ |
พระชนนีหรือพระราชมารดา | แม่ |
พระสสุระ | พ่อสามี |
พระสัสสุ | แม่สามี |
พระปิตุลา | ลุงหรืออาชาย |
พระปิตุจฉา | ป้าหรืออาหญิง |
พระมาตุลา | ลุงหรือน้าชาย |
พระมาตุจฉา | ป้าหรือน้าหญิง |
พระสวามีหรือพระภัสดา | สามี |
พระมเหสีหรือพระชายา | ภรรยา |
พระเชษฐา | พี่ชาย |
พระเชษฐภคินี | พี่สาว |
พระอนุชา | น้องชาย |
พระขนิษฐา | น้องสาว |
พระราชโอรสหรือพระเจ้าลูกยาเธอ | ลูกชาย |
พระราชธิดา,พระเจ้าลูกเธอ | ลูกสาว |
พระชามาดา | ลูกเขย |
พระสุณิสา | ลูกสะใภ้ |
พระราชนัดดา | หลานชายหรือหลานสาว |
พระภาคิไนย | หลานที่เป็นลูกของพี่สาวหรือน้องสาว |
พระภาติยะ | หลานที่ลูกของพี่ชาย หรือน้องชาย |
พระราชปนัดดา | เหลน |
คำราชาศัพท์หมวดกริยา
คำราชาศัพท์ | ความหมาย |
พระราชดำรัส | คำพูด |
ตรัส | พูดด้วย |
เสด็จพระราชดำเนิน | เดินทางไปที่ไกล ๆ |
เสด็จลง | เดินทางไปที่ใกล้ ๆ |
ทรงพระราชนิพนธ์ | แต่งหนังสือ |
ทรงพระกาสะ | ไอ |
ทรงพระสรวล | หัวเราะ |
ทรงพระปรมาภิไธย | ลงลายมือชื่อ |
ทรงสัมผัสมือ | จับมือ |
ทรงพระเกษมสำราญ | สุขสบาย |
ทรงพระปินาสะ | จาม |
พระราชโองการ | คำสั่ง |
พระราโชวาท | คำสั่งสอน |
พระราชปฏิสันถาร | ทักทาย |
มีพระราชประสงค์ | อยากได้ |
สรงพระพักตร์ | ล้างหน้า |
ชำระพระหัตถ์ | ล้างมือ |
พระราชปฏิสันถาร | ทักทายปราศรัย |
เสด็จประพาส | ไปเที่ยว |
พระราชปุจฉา | ถาม |
ถวายบังคม | ไหว้ |
พระบรมราชวินิจฉัย | ตัดสิน |
ทอดพระเนตร | ดู |
พระราชทาน | ให้ |
พระราชหัตถเลขา | เขียนจดหมาย |
ทรงเครื่อง | แต่งตัว |
ทรงพระอักษร | เรียน เขียน อ่าน |
ประทับ | นั่ง |
ทรงยืน | ยืน |
บรรทม | นอน |
สำหรับคำว่า พระราชโองการ และพระราโชวาท หากใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีคำว่า “บรม” นำหน้าคำว่า “ราช” เสมอ
คำราชาศัพท์หมวดสรรพนาม
คำที่ใช้แทน | คำราชาศัพท์ | ใช้กับ |
แทนชื่อผู้พูด (บุรุษที่ 1) | ข้าพระพุทธเจ้า กระผม, ดิฉัน | พระมหากษัตริย์ ผู้ใหญ่, พระสงฆ์ |
แทนชื่อที่พูดด้วย (บุรุษที่ 2) | ใต้ฝ่าละอองธุรีพระบาท ใต้ฝ่าละอองพระบาท | พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี พระบรมราชนนี พระบรมโอสรสาธิราช พระบรมราชกุมารี |
แทนชื่อที่พูดด้วย | ฝ่าพระบาท | เจ้านายชั้นสูง |
แทนชื่อที่พูดด้วย | พระคุณเจ้า | พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ |
แทนชื่อที่พูดด้วย | พระคุณท่าน | พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป |
แทนชื่อที่พูดด้วย | พระเดชพระคุณ | เจ้านาย, หรือพระภิกษุที่นับถือ |
แทนผู้ที่พูดถึง (บุรุษที่ 3) | พระองค์ | พระราชา, พระพุทธเจ้า, เทพผู้เป็นใหญ่ |
แทนผู้ที่พูดถึง | ท่าน | เจ้านาย, ขุนนางผู้ใหญ่, พระภิกษุ, ผู้ใหญ่ที่นับถือ |
คำราชาศัพท์หมวดพระสงฆ์
คำราชาศัพท์ | ความหมาย |
สรงน้ำ | อาบน้ำ |
จังหัน | อาหาร |
จำวัด | นอน |
ฉัน | รับประทาน |
นิมนต์ | เชิญ |
อาพาธ | ป่วย |
อาสนะ | ที่นั่ง |
ลิขิต | จดหมาย |
ปัจจัย | เงิน |
ปลงผม | โกนผม |
กุฏิ | เรือนที่พักในวัด |
ห้องสรงน้ำ | ห้องอาบน้ำ |
ประเคน | ถวาย |
เพล | เวลาฉันอาหารกลางวัน |
ถาน | เวจกุฎี ห้องสุขา |
ภัตตาหาร | อาหาร |
ตาย | มรณภาพ |
ใบปวารณา | คำแจ้งถวายจตุปัจจัย |
สลากภัต | อาหารถวายพระด้วยสลาก |
อังคาด | เลี้ยงพระ |
เสนาสนะ | สถานที่พระภิกษุใช้อาศัย |
ไตรจีวร | ครื่องนุ่งห่ม |
คิลานเภสัช | ยารักษาโรค |
อุบาสก,อุบาสิกา | คนรู้จัก |
รูป | ลักษณนามสำหรับพระภิกษุ |
องค์ | ลักษณนามสำหรัพระพุทธรูป |
พระโอวาท | คำสอน(พระสังฆราช) |
พระบัญชา | คำสั่ง(พระสังฆราช) |
พระแท่น | ธรรมาสน์(พระสังฆราช) |
พระสมณสาสน์ | จดหมาย(พระสังฆราช) |
เอาล่ะ ครบแล้วครับสำหรับคำราชาศัพท์ต่างๆทุกหมวดหมู่ที่เว็บติวฟรีรวบรวมขึ้นมา ทีนี้เมื่อได้เรียนรู้ถึงคำราชาศัพท์เหล่านี้แล้ว ก็จะคุ้นเคยกับมันมากขึ้นอีกนะครับ ต่อไปถ้าอยากฝึกการใช้คำราชาศัพท์ หรือฝึกทบทวนตัวเอง ติวฟรีก็แนะนำให้ฟังข่าวในพระราชสำนักช่วงสองทุ่มดูทุกวันๆครับ แล้วคุณก็จะได้ฝึกคำราชาศัพท์ได้อย่างเต็มที่เลย
เราไม่ใช้คำราชาศัพท์กับพระเจ้าแผ่นดินได้ไหม?
มีหลายคนได้ถามกันเข้ามาว่า ทำไมถึงต้องใช้คำราชาศัพท์ เราไม่ใช้คำราชาศัพท์กับพระเจ้าแผ่นดินได้ไหม จึงขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากราชบัณฑิตยสภามาให้อ่านกันครับ
เด็ก : คุณครูครับ ทำไมจึงต้องมีราชาศัพท์ด้วยครับ เราจะพูดกับในหลวงอย่างที่เราพูดกับพ่อได้ไหม
ครู : ถ้าหนูพูดราชาศัพท์ไม่ได้ ก็พูดอย่างธรรมดา ท่านไม่ถือพระองค์ แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยที่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ต้องพยายามเรียนราชาศัพท์และใช้ให้ถูก เพราะคนไทยมีวัฒนธรรมเคารพผู้ใหญ่ วัฒนธรรมนี้ทำให้เราใช้ภาษาต่าง ๆ กัน บางคำใช้สำหรับพูดกับผู้ใหญ่ บางคำสำหรับพูดกับผู้น้อย บางคำใช้พูดกับผู้เด็กหรือพูดกับคนที่มีฐานะทางสังคมด้อยกว่า เมื่อพูดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องใช้คำสูง คำไพเราะ เพื่อแสดงความเคารพยกย่องสูงสุด และแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ คำที่เป็นราชาศัพท์มีทั้งคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาเขมร หรือเป็นคำภาษาไทย
เด็ก : ผมเข้าใจแล้วครับ เวลาพูดกับพ่อแม่ผมยังใช้คำไม่เหมือนกับที่ผมพูดกับเพื่อนผมเลย เวลาพูดถึงในหลวงก็ต้องใช้ราชาศัพท์
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. link
รักกันชอบกัน กดแชร์ใน facebook, twitter, หรือ LINE ให้ด้วยนะครับ
คำราชาศัพท์ ม.2 มีอะไรบ้างคะ พี่ช่วยหนูหน่อยนะค่ะ หนูต้องทำรายงานส่งครู
ม.2 เรียนคำราชาศัพท์ข้างบนนี้ครบหมดเลยครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะค่ะ
ขอบคุณที่แจ้งข่าวค่ะ
ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณที่บอกครับ ให้ความสนใจเต็มที่ล่ะ
แปลกดี ขอบคุณที่มาแบ่งปันประสบการณ์
อ้างอิงเขียนไงดี?
สวัสดีครับ ผมชื่ออเล็กซ์ เป็นชาวแคนาเดียน
คำราชาศัพท์ของไทย น่าตื่นเต้นมากครับ ขอบคุณมากครับ